หลักการและเหตุผล
นับตั้งแต่หลังการสิ้นสุดลงของสงครามเย็นในปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในโครงสร้างชายแดน ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และผู้คนในอาณาบริเวณ พรมแดน กล่าวคือในด้านโครงสร้างชายแดนนั้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ทำการเปิดพรมแดนทางการเมือง (political boundary) ไปสู่พรมแดนเศรษฐกิจ (economic boundary) ที่มีการเคลื่อนย้ายทุน สินค้า และแรงงานมหาศาลข้ามแดนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน พื้นที่ชายแดนได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านการค้า การลงทุน โดยปรากฏเป็นรูปธรรมที่หลากหลายยกตัวอย่างเช่น การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจและเส้นทางคมนาคมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของไทยและของประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของประเทศจีน เป็นต้น โครงสร้างชายแดนที่ถูกปรับเปลี่ยนใหม่เช่นนี้ นำไปสู่การทำความเข้าใจใหม่ถึงบทบาทของพรมแดนระหว่างประเทศซึ่งได้ปลี่ยนแปลงจากเดิม ซึ่งเคยเป็นเครื่องกีดกั้น (barrier) ไปสู่พรมแดนในฐานะที่เป็นสะพานเชื่อม (bridge) และทรัพยากร (resource) ตามไปด้วย
ทั้งนี้มิเพียงโครงสร้างชายแดนเท่านั้นที่ต้องได้รับการพิจารณาใหม่ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในอาณาบริเวณพรมแดนก็ต้องได้รับความสนใจอีกครั้งด้วยเช่นกัน ถึงแม้รัฐบาลของแต่ละประเทศเป็นผู้มีอำนาจเหนือพื้นที่ชายแดน แต่องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ ตลอดจนประเทศมหาอำนาจก็ได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ และความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geo politic) อย่างมีนัยสำคัญ ยกตัวอย่างเช่นการตึงเครียดในการจัดการแม่น้ำโขงและข้อพิพาททางด้านดินแดนในทะเลจีนใต้ เป็นต้น สภาวการณ์ดังกล่าวนำไปสู่คำถามสำคัญคือใครหรือกลุ่มใดเป็นผู้กำหนดการเปลี่ยนแปลงและผลประโยชน์ตกเป็นของคนกลุ่มใด ผู้คนในอาณาบริเวณพรมแดนมักเป็นกลุ่มคนที่ได้รับกระทบจากการเปลี่ยนแปลง และจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจในพื้นที่ชายแดนอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคระบาดข้ามแดนได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้คนทั้งในด้านการเดินทางข้ามแดน สุขภาพ และปฏิสัมพันธ์ข้ามแดน ซึ่งเป็นไปอย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือชนชายแดนจะสร้างทางเลือก แสวงหาทางรอดอย่างไรในโครงสร้างชายแดน และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กดทับผู้คนเอาไว้
ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอาณาบริเวณพรมแดนจึงได้จัดการประชุมชายแดนศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศครั้งที่ 5 ขึ้นมา ภายใต้หัวข้อ “โครงสร้าง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กับทางเลือกและทางรอดของผู้คนในพื้นที่ชายแดน” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ต่อกระบวนการชายแดนในปัจจุบัน
วัตถุประสงค์
- เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการและนักวิจัย ทั้งภายในและภายนอกสถาบันการศึกษานำเสนอผลงานวิชาการด้านชายแดนศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศ
- เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ทัศนะ ความรู้ ระหว่างนักวิชาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่ชายแดนและสนใจประเด็นการพัฒนาระหว่างประเทศ
- เพื่อสร้างการเรียนรู้และเข้าใจสถานการณ์การพัฒนาในพื้นที่ชายแดน
ขอบเขตของเนื้อหาบทความ
- โครงสร้างกับชายแดน
- โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชายแดนกับการพัฒนา
- เมืองชายแดนและเมืองเครือข่ายข้ามแดน
- การปรับตัวของสถาบันทางสังคม
- เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน
- ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
- รัฐกับความปั่นป่วนในพรมแดน
- รัฐสวัสดิการกับความเป็นพลเมือง
- ชีวชายแดน (Biometric Border)
- โรคระบาด การควบคุม และเสรีภาพ
- ทางเลือกและทางรอดของผู้คนในพื้นที่ชายแดน
- สุขภาพและร่างกาย
- การเดินทางและการข้ามแดน
- ชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายแดน
- วัฒนธรรมในชีวิตวิถีใหม่